วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

สมัย โฟวิสม์

สมัย โฟวิสม์

ณ งานแสดงศิลปะที่ซาลงโดตอน ในปีค.ศ.1905 การแสดงครั้งนี้เป็นการแสดงผลงานที่คละเคล้ากันไประหว่างงานยุคเก่าและงานยุคใหม่ ในงานยุคเก่าคือ ผลงานประติมากรรมแบบ Renaissance ของศิลปินโดนาเตลโล กับงานยุคใหม่โดยจิตรกรร่วมสมัยในยุคนั้นซึ่งมีรูปแบบและสีสันที่รุนแรง ดุดัน อันเป็นลักษณะตรงกันข้ามกับศิลปะ Renaissance เลยทีเดียว

ดังนั้นเมื่อนักวิจารณ์ที่ชื่อ หลุยส์ โวเซลล์ได้เข้ามาชมงานจึงเกิดความรู้สึกว่า ผลงานของโดนาเตลโลอยู่ท่ามกลางสัตว์ป่า(fauv) ซึ่งสัตว์ป่าในที่นี้ หลุยส์ โวเซลล์หมายถึง ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่แสดงอยู่ร่วมกันนั่นเอง แม้เขาวิจารณ์ด้วยความรู้สึกกระแทกแดกดันมากกว่าชื่นชม แต่กลุ่มศิลปินเหล่านี้กลับเห็นดีเห็นงามกับคำวิจารณ์ของเขาไปเสียนี่ ดังนั้นพวกเขาจึงยินดีใช้ชื่อกลุ่มว่า Fauvism ไปเสียเลย
ศิลปะแนวนี้เกิดขึ้นที่ฝรั่งเศสโดย อองรี มาติสส์ คือผู้นำของกลุ่ม งานของพวกเขาเป็นการหาแนวทางใหม่ให้กับโลกศิลปะ ฉีกกฎเกณฑ์เก่า ๆ อันคร่ำครึ สร้างงานตามสัญชาตญาณการแสดงออกอย่างเต็มที่ ใช้สีสดใส รุนแรง มีลีลาสนุกสนาน มีการตัดเส้นอย่างเด่นชัด แม้ว่าจะใช้สีตัดกันอย่างรุนแรงแต่ก็เข้ากันได้อย่างประสานสัมพันธ์ ผลงานโดดเด่นที่ความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินซึ่งแสดงออกอย่างเสรี มาติสส์ได้รับแนวคิดจาก เซซานน์ ทางรูปทรงและความรู้สึก แล้วนำมาปรับปรุงใหม่

"สิ่งที่ข้าพเจ้าฝันถึงคือ ศิลปะแห่งความสมดุล ความบริสุทธิ์และความสงบ โดยไม่พะวงถึงเรื่องราว ศิลปะที่ข้าพเจ้าต้องการเป็นศิลปะที่เหมาะสมสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพใด ศิลปะคล้ายกับเก้าอี้โยกอย่างดีที่ให้ความสบาย คลายความเมื่อยล้าของร่างกายอย่างไรอย่างนั้น"

"โลกภายนอกที่เห็นชัดเจนนี้มีอยู่ในจิตใจของศิลปิน และความรู้สึกของสีขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความสัมพันธ์ของรูปและสีต้องสมดุลกันตามที่ศิลปินต้องการ"

"ในการมองภาพจิตรกรรม ควรจะลืมเสียเถิดว่ามันเป็นเรื่องอะไร"

"นั่นไม่ใช่รูปผู้หญิง แต่เป็นรูปเขียนผู้หญิง" เหล่านี้ คือความคิดของ อองรี มาติสส์ ซึ่งทำให้เราได้เห็นว่าเขาเป็นคนหัวก้าวหน้า กล้าคิด กล้าทำขนาดไหน มิหนำซ้ำยังกล้าวิจารณ์งานในแบบ นีโอ-อิมเพรสชั่นนิสม์อีกว่า การใช้สีแต้มจุดแบบนั้นเป็นเพียงกลวิธี หาใช่ความสุนทรีย์ไม่







สมัย เอ็กซเพรสชั่นนิสม์

ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ กลุ่มโฟวิสม์ อุบัติขึ้นที่ฝรั่งเศสนั้น ที่เยอรมัน ก็มีกลุ่มเอ็กซเพรสชั่นนิสม์เกิดขึ้นมาใหม่เหมือนกัน โดยศิลปินกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลแนวคิด คตินิยมต่อจากฟาน กอห์ก

และโกแกง โดยตรง

นั่นคือการแสดงออกถึงอารมณ์ภายในอันเร่าร้อนรุนแรง การใช้สีและการตัดเส้นรอบนอก เพื่อให้รูปทรงดูเด่นชัดและแข็งกร้าว พวกเขาสะท้อนแนวคิดที่เกี่ยวกับสังคม การเมือง แสดงความสกปรก ความหลอกลวง ความเลวร้ายของสังคม ต่างจาก โฟวิสม์ ซึ่ง กลุ่มโฟวิสม์ ที่ฝรั่งเศสไม่ได้เน้นเนื้อหาตรงนี้

ทว่าความคิดที่สอดคล้องต้องกันของทั้งสองกลุ่มก็คือ พวกเขาคิดว่า ศิลปกรรมของยุโรปโดยทั่วไปมีแนวโน้มการแสดงออกไปในด้านที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความจริง

ศิลปินต่างเสแสร้งและปิดบังโลกแห่งความเป็นจริง คำนึงถึงความงามแต่อย่างเดียว ทำให้มันดูสูงสง่า เป็นของเข้าใจยาก ศิลปินทั้งสองกลุ่มไม่ได้ยึดแนวทางดั้งเดิม เรียกว่า พวกเขามีความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อความงามทางศิลปะก็ว่าได้ แล้วหันมาเสนองานที่กล้าเผชิญหน้าตรง ๆ ระหว่างโลกและมนุษย์

แต่การแสดงออกของทั้งสองกลุ่มก็มีแนวทางแตกต่างกัน โฟวิสม์ใช้อารมณ์สร้างรูปแบบส่วนเอ็กซเพรสชั่นนิสม์ปล่อยให้รูปแบบแสดงอารมณ์

พวกเอ็กซเพรสชั่นนิสม์แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งชื่อกลุ่มสะพาน (die brucke) ประกอบด้วย Ernst Ludwig Kirchner,Karl Schmidt Rottluff,Eric Hegkel,Max Pechstein,Emile Nolde ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่มนักขี่ม้าสีน้ำเงิน (Der Blaue Reiter) ประกอบด้วย Franz Marc,Wassily Kandinsky,Paul Klee,Lyonel Feiniger,August Macke,Heinrick Campendonk

หลักสุนทรียภาพของพวกเขาอยู่ที่การแสดงออกอย่างรุนแรงเกินความจริง มีการบิดผันรูปทรงต่าง ๆ ให้ดูหมุนเวียน มีการเคลื่อนไหว แสดงเส้นอย่างเด่นชัด ชอบใช้สีดำ (ต่างจากอิมเพรสชั่นนิสม์ที่ไม่ใช้สีดำ เพราะถือว่าสีดำไม่มีอยู่ในธรรมชาติของแสง) และใช้สีที่ตัดกันอย่างรุนแรง ชอบในรูปทรงง่าย ๆ แต่สามารถสร้างอารมณ์อย่างถึงขีดสุด



สมัย คิวบิสม์

มันเริ่มต้นมาจาก พอล เซซานน์ ที่ค้นหาความงามจากรูปทรงต่าง ๆใ นธรรมชาติ เซซานน์ ว่าศิลปินควรดูความงามของธรรมชาติจากรูปทรงของเหลี่ยม ลูกบาศก์ ค้นหาโครงสร้างตามความจริงที่เป็นแท่ง ๆ มากกว่าจะไปเน้นที่รายละเอียด

พาโบล ปิกัสโซ นำแนวความคิดนี้มาพัฒนาต่อจนเป็นรูปแบบของตนเองและทำให้เขาโดดเด่นเป็นผู้นำในศิลปะแนวนี้ เขาสร้างรูปทรงเป็นแบบเรขาคณิต หาโครงสร้างมาแยกย่อยแล้วประกอบเข้ากันใหม่ ใช้สีแบน ๆ บางทีเอาด้านหน้าและด้านหลังมาประกอบพร้อม ๆ กันเพื่อให้ผู้ดูได้เห็นวัตถุนั้นทั้งสองด้านในคราวเดียวกัน เป็นการแก้ปัญหาของภาพเขียนที่มีเพียงสองมิติและตาเห็นได้แค่ด้านเดียว หลักสุนทรียศาสตร์อยู่ที่ กฎของการควบคุมความรู้สึก อารมณ์การแสดงออกต้องมีการพิจารณากลั่นกรองเสียก่อน ใช้สีมัว ไม่สด ไม่รุนแรง

คิวบิสม์แบ่งออกได้เป็นสามยุค ในยุคแรก คิวบิสม์วิเคราะห์ งานมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์รูปทรงให้พัฒนานอกเหนือจากสภาพที่เป็นอยู่ในธรรมชาติ เน้นเรื่องน้ำหนัก ความแข็งแรงของวัตถุและปริมาตร ศิลปินจะมองสิ่งต่าง ๆ คล้ายผลึกแก้วหรือเพชรได้รับการเจียระไนให้เกิดเหลี่ยมเป็นแง่เป็นมุม และยังทำให้โปร่งแสงแสดงรอยที่ซ้อนทับกัน เพื่อทำให้เกิดมิติ ในยุคแรกนี้ยังมีร่องรอยของธรรมชาติปรากฏอยู่
ยุคที่สอง ยุคทองของคิวบิสม์วิเคราะห์ ศิลปินจะจำแนกวัตถุออกเป็นส่วนต่างๆ ขยายให้เกิดมุมเด่นชัดขึ้น แล้วก็ผสมผสานวัตถุต่าง ๆ ให้ประสานสัมพันธ์กันทั้งภาพ ไม่แสดงส่วนละเอียด สีในภาพเป็นสีเทาอมน้ำตาล นำวัตถุที่ถูกมองจากมุมมองที่ต่างกัน ทั้งเบื้องบน ด้านข้าง ด้านหน้า หรือด้านใด ๆ ก็แล้วแต่มารวมกันให้เกิดเอกภาพ อยู่ในองค์เดียวกัน ทางด้านรูปทรงก็ถูกทำลายจนเกือบอยู่ในสภาพนามธรรมอยู่แล้ว

ยุคที่สาม คิวบิสม์สังเคราะห์ ผลงานในยุคนี้เริ่มมีการนำวัสดุต่าง ๆ มาคละเคล้าปะติดรวมกันกับการวาดภาพ วัสดุเหล่านี้อาจเป็นกระดาษ ผ้า ฯลฯ วิธีเช่นนี้เรียกว่า Collage มีการเขียนตัวหนังสือหรือชไม่ก็ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ ปะลงผืนผ้าใบทำให้เกิดอารมณ์ทางด้าน Novel Tactile Value (แปลว่า คุณค่าในการรับรู้ด้วยการนำอักษรมาเป็นสื่อนำความเข้าใจ) การจัดภาพในยุคนี้เป็นอิสระกว่าเดิม มีการสังเคราะห์ในเรื่องของเส้นให้มีความใกล้ชิดกับเส้นเรขาคณิตมากขึ้น

กล่าวคือเส้นตรง โค้งเป็นระเบียบ โดยไม่มีเส้นแบบอ่อนไหวที่ไม่เป็นระเบียบ ให้ความสำคัญกับการจัดวาง กลายเป็น"การเล่นของวุฒิปัญญา"

สมัย ฟิวเจอริสม์

ศิลปะเพื่ออนาคต ฟิวเจอริสม์ ถือเป็นคำประกาศของการสิ้นสุดยุคสมัยศิลปกรรมในอดีต และเป็นการเกิดใหม่ของศิลปะอีกยุคหนึ่ง ศิลปินกลุ่มนี้เกิดขึ้นที่อิตาลี นับถือความเร็วเป็นพระเจ้า ว่ากันว่ารถจักรยานยนต์ที่ส่งเสียงคำรามกึกก้องราวกับปืนกลนั้น มีความสวยงามยิ่งกว่ารูปประติมากรรมสลักหินอ่อนที่ชื่ออนุสาวรีย์ชัยชนะแห่งซาโมเธรสเสียอีก (ว่าเข้าไปนั่น) พวกเขาคัดค้านความคิดในสุนทรียภาพตามแบบฉบับของคลาสสิกโบราณ ดังนั้นจึงควรรื้อเมืองโบราณ เผาพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดซึ่งเป็นที่รวมความคิดมอมเมาประชาชนในยุคปัจจุบันของคนโบราณเสียให้หมด (อะไรจะขนาดนั้น) พวกเขาชิงชังความคิดอันเพ้อฝัน ความงามของพวกเขาขึ้นอยู่กับสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อย่างพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร เครื่องยนต์ เครื่องบิน สิ่งที่เคลื่อนไหวด้วยความเร็ว พวกเขายึดหลักอยู่สองประการคือ ความเคลื่อนไหวของร่างกายในอากาศ และความเคลื่อนไหวของวิญญาณในร่างกาย (สุดท้ายศิลปะก็หนีไม่พ้นเรื่องของจิตวิญญาณอยู่ดี)

ศิลปินใช้วิธีวาดให้เกิดภาพลวงตา ซึ่งคิดขึ้นมาจากทฤษฎีวัตถุที่ประจักษ์แก่สายตา โดยผ่านการทดลองให้เห็นจริงมาแล้ว จากภาพถ่ายหรือภาพยนตร์ พวกเขาค้นหาความจริงของการเปลี่ยนรูปทรง ซึ่งจะสูญเสียความมีปริมาตรเมื่อรูปทรงนั้น ๆ เคลื่อนไหว ศิลปินที่เป็นผู้นำของกลุ่มคือ Umberto Boccioni พวกเขาถือว่า รูปทรงที่ได้รับการถ่ายทอดให้เหมือนจริงตามแบบทั้งหมด เป็นสิ่งที่น่าดูถูกเหยียดหยาม รูปทรงที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์จึงจะเป็นสิ่งที่น่ายกย่องแสนประเสริฐ

ผลงานแสดงออกถึงความวุ่นวายของชีวิตในยุคใหม่ ให้ความสำคัญกับการจัดองค์ประกอบของภาพ

ลัทธิกลศาสตร์ ที่ว่าด้วยการเคลื่อนไหวของจักรวาล ต้องมีอยู่ในงานจิตรกรรม พร้อมกับการแสดงความเคลื่อนไหว พวกเขากล่าวว่า คำว่า "คนบ้า" เป็นคำที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดปากพวกหัวก้าวหน้าทั้งหลาย ดังนั้นควรพิจารณาด้วยความเป็นธรรม

บ็อชชินี่บอกว่างานของพวกเขาไม่ใช่การก่อรูปของร่างกาย แต่เป็นการก่อรูปของการกระทำของร่างกาย หมายความว่างานทุกชิ้นจะต้องแสดงให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวนั่นเอง แต่กลุ่มฟิวเจอริสม์นี้มีอายุสั้น เนื่องจากช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ.1914) ผู้นำกลุ่มคือบ็อชชินี่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร เขาได้รับบาดเจ็บต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และเสียชีวิตลงในปี 1916 ผู้ที่เคยร่วมอุดมการณ์ต่างก็แยกย้ายไปหาแนวทางอื่นในการทำงานของตนต่อไป





ศิลปะ นามธรรม

สุดยอดของงานที่ดูแล้วไม่รู้เรื่องที่สุดก็คืองานในแนว แอบสแตรก นี่เอง การแสดงออกของงานนามธรรมมีหลักกว้าง ๆ อยู่สองแนวคือ

1. ตัดทอนสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ตามธรรมชาติ ให้มีรูปทรงที่ง่ายหรือเหลือแต่แก่นแท้

2. สร้างรูปทรงที่ไม่ต้องการเสนอเรื่องราวใดๆเป็นพื้นฐาน อย่างเช่น รูปทรงเรขาคณิต มาใช้ในการสร้างงาน

ศิลปะนามธรรมนี้ยังแบ่งออกเป็นสองแบบด้วยกัน ได้แก่ แบบโรแมนติก เป็นงานที่แสดงความรู้สึกอย่างมีอิสระ มีอารมณ์เป็นพื้นฐาน แสดงความรู้สึกภายในออกมาเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า In formalist (ไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์)

แบบคลาสสิก ซึ่งมีสิ่งดลใจจากรูปทรงเรขาคณิต มีการวางแผน มีกฎเกณฑ์ กฎที่ว่าอาจคิดขึ้นเองได้ พวกนี้เรียกว่า Formalist (มีระเบียบกฎเกณฑ์)

Wassily Kandinsky (คนเดียวกับที่อยู่ในกลุ่มนักขี่ม้าสีน้ำเงินนั่นแหละ) นับเป็นคนแรกที่ทำงานในแนวนี้ เขามีหลักในการทำงานด้วยการใช้สีสดบริสุทธิ์ เน้นเรื่องสีและรูปทรง ที่จะเป็นหลักการติดต่อระหว่างเจตนากับวิญญาณของมนุษย์

ทางด้านองค์ประกอบ มีจุดประสงค์ในการรวมตัวของสีและรูปทรงที่ดำรงอยู่อย่างอิสระ การรวบรวมไว้โดยความจำภายในใจ และกลับฟื้นมาอีกในรูปทรงทั้งหมด ซึ่งเรียกว่า ภาพ

เขากล่าวว่างานศิลปะประกอบด้วยสองสิ่งคือ สิ่งที่อยู่ภายใน กับสิ่งที่อยู่ภายนอก สิ่งที่อยู่ภายในคืออารมณ์ ความรู้สึกในวิญญาณของศิลปิน

ความรู้สึกนี้มีความยิ่งใหญ่ต่อการปลุกเร้า ความรู้สึกให้คล้ายคลึงกับที่มีอยู่ในผู้ชม (ผู้ชมคือสิ่งที่อยู่ภายนอก) เมื่อความรู้สึกของทั้งสองคือฝ่ายศิลปินและผู้ชมมีความคล้ายกันและมีค่าเท่าเทียมกัน ย่อมหมายความว่างานศิลปะชิ้นนั้น ๆ ประสบความสำเร็จ สิ่งที่อยู่ภายในนั้นต้องมีอยู่ งานศิลปะเป็นเพียงสิ่งสมมติ ดังนั้น สิ่งที่อยู่ภายในจะเป็นสิ่งกำหนดงานศิลปกรรม

กำเนิดแห่งแรงดลใจมาจาก ความประทับใจในธรรมชาติ จิตไร้สำนึกที่แสดงออกอย่างฉับพลัน และงานที่ถูกทำแล้วทำอีกเป็นเรื่องราวที่อวดภูมิปัญญา สิ่งนี้เขาเรียกว่า องค์ประกอบ

ศิลปะ ดาดา

ดาดาอิสม์ เป็นศิลปะอีกกลุ่มหนึ่งที่มีปฏิกิริยาต่อต้านคัดค้านศิลปกรรมเก่า ๆ ในอดีต พวกเขาคิดว่าสิ่งเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีจิตใจคับแคบ ดังนั้นต้องสร้างสรรค์งานแนวใหม่ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับศิลปะแบบเก่า

แนวความคิดของกลุ่มนี้อยู่บนพื้นฐานทางอามรณ์ อันต้องการปลดเปลื้องความคิดผิด ๆ แบบเก่าให้หมดไป และเป็นผลมาจากความเสื่อมโทรมในสังคมและศิลปะวิทยา สืบเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การแสดงออกของศิลปินกลุ่มนี้ออกไปทางแดกดัน เยาะเย้ย ถากถาง มองโลกในแง่ร้าย เห็นว่าโลกนี้เลว สมควรถูกทำลายได้แล้ว พวกเขาแนะให้มีการสร้างงานที่ผิดหลักความจริง สร้างศิลปะอยู่ที่การโกหก หลอกลวงเป็นสำคัญ

พวกเขาไม่เชื่อหลักตรรกวิทยา หากแต่ต้องการปลดปล่อยจิตไร้สำนึกให้แสดงพฤติกรรมอย่างอิสระเต็มที่ แม้ว่าจิตไร้สำนึกจะมีแนวโน้มเอียงไปในทางวิตถาร ดูพิลึก พิสดารก็ตาม พวกเขายังได้รับอิทธิพลมาจากพวกฟิวเจอริสม์ ในเรื่องของความเร็วและเครื่องจักรกลด้วย แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือ ฟิวเจอริสม์ยังคงมีรูปแบบการแสดงออกแบบเก่า ส่วนพวกดาดาชอบการประชดประชัน ดูถูกเหยียดหยาม

ศิลปะ เซอร์เรียลลิสม์

หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า เซอร์ กันมาบ้าง แต่งตัวเซอร์ ๆ ทำตัวเซอร์ ๆ อะไรทำนองนี้ คำว่าเซอร์ นี่ก็มาจากศิลปะแนวเซอร์เรียลิสม์ นี่เอง มีความหมายว่าเหนือความจริง เพราะศิลปะแนวนี้ถ่ายทอดเรื่องราวเหนือธรรมชาติ ถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในความฝันออกมา ว่ากันว่า ความฝันนั้นเป็นสิ่งที่จริงแท้เสียยิ่งกว่าความจริง เป็นสุดยอดของความเป็นจริง เซอเรียลิสม์ได้วิวัฒนาการมาจากพวกดาดาอิสม์ในเรื่องราวของการมองความจริงอันพิสดาร ศิลปินมองเห็นว่าโลกความเป็นจริงที่เห็นอยู่เป็นภาพมายาทั้งหมด (แต่กลับเห็นความฝันเป็นเรื่องจริง ออกจะสับสนอย่างไรไม่รู้)

นี่เป็นการเคลื่อนไหวของศิลปะแบบหนึ่ง ที่มีความคิดพ้องตามทฤษฎีของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่ว่า มนุษย์ทุกคนอยู่ภายใต้อิทธิพลของจิตไร้สำนึก ซึ่งเราฝังความอยากอันมิได้ขัดเกลาเอาไว้ จนเกิดทำให้รู้สึกว่าความป่าเถื่อนยังมิได้หายไปจากมนุษย์ หากแต่หลบอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ

งานเซอร์เรียลิสม์มีความสำคัญอยู่ที่ การแสดงออกของจิตใต้สำนึกอย่างอิสระ

ปราศจากการควบคุมของเหตุผล มีความฝันและอารมณ์ จินตนาการ ค่อนข้างโน้มเอียงไปในทางกามวิสัย หลักการของเซอร์เรียลิสม์ คือ จินตนาการเป็นส่วนสำคัญของการแสดงออก จินตนาการ คือ จิตไร้สำนึก และจิตไร้สำนึกเป็นภาวะของความฝัน ที่มีขบวนการต่อเนื่องกันซึ่งนำไปสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะได้ สิ่งที่เราเห็นจากโลกภายนอกขณะตื่น เป็นเพียงปรากฏการทางการแทรกแซง

ความงามของพวกเขาคือ ความมหัศจรรย์ ความมหัศจรรย์เพียงอย่างเดียวที่สามารถสร้างศิลปะให้สมบูรณ์ได้ และยังให้ความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความหมายต่อความรู้สึกของมนุษย์

ศิลปะ ซูพรีมาตีสม์

รูปสี่เหลี่ยมสีขาว บนพื้นจัตุรัสสีขาว เพียงเท่านี้เองที่ผู้ชมต่างมองเห็น มันคืออะไร ภาพนี้ไม่ได้บอกเรื่องราวใด ๆ เลย ไม่มีสมุด ไม่มีต้นไม้ ไม่มีคน

ซูปรีมาติสม์ เป็นรูปแบบของศิลปะที่แสดงความรู้สึกบริสุทธิ์อย่างสูงส่ง ปรากฏเป็นศิลปะที่ก่อให้เกิดความสร้างสรรค์ ไม่คำนึงถึงรูปร่างแท้จริงของวัตถุที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา แต่คำนึงถึงความรู้สึกของวัตถุนั้น ๆ เป็นส่วนใหญ่ เมื่อไม่คำนึงถึงรูปร่าง เห็นว่ารูปร่างนั้นไม่แน่นอน การเขียนภาพจึงยึดบริเวณว่างเป็นหลัก เรื่องราวที่แสดงจะเกี่ยวกับอวกาศ แรงดึงดูด แม่เหล็กไฟฟ้า เรขาคณิต ทิศทาง และลักษณะพื้นผิว

Kashmir Malevich เป็นศิลปินผู้วางแนวทาง เขาวางทฤษฎีไว้ว่า กำหนดวิธีเขียน และกรรมวิธีอื่น ๆ อยู่ในรูปทรงเรขาคณิตแบบง่าย เช่นรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม หรือกากบาท ศิลปินยึดหลักที่ว่าปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในโลก ไม่มีความหมายในตัวเองเลย จุดสำคัญส่วนใหญ่คือ ความรู้สึกของผู้ดูเมื่อพบสิ่งต่าง ๆ ในโลกรอบ ๆ ตัวต่างหาก ความรู้สึกนี้จะปรากฏเด่น สร้างความคิดสร้างสรรค์ สะเทือนใจมนุษย์มากกว่ารูปร่างของวัตถุนั้นๆ

ศิลปะสมัยก่อน เป็นศิลปะที่สอนคนส่วนใหญ่ มีความมุ่งหมายเพื่อสนองความไม่อุ่นใจของมนุษย์ แต่ซูปรีมาติสม์เป็นศิลปะที่เกี่ยวข้องกับโลกแห่งความรู้สึก ซึ่งเป็นสิทธิของแต่ละบุคคลจะพึงใช้ความรู้สึกของตนสร้างความสดชื่นให้ชีวิต

ดังนั้นภาพ Suprematism ผู้ชมต้องปล่อยความคิดให้มีอิสรเสรี สร้างความรู้สึกร่วมไปกับมัน

การตีความภาพนั้นขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาและประสบการณ์ของตน ผู้ชมจะไม่ถูกบังคับให้ต้องเห็นอย่างที่ศิลปินอยากให้เห็น ศิลปินจะปล่อยให้ผู้ชมมองเห็นได้อย่างเสรีโดยไม่มีการครอบงำความคิดจากรูปทรงวัตถุ



ศิลปะ ป๊อป อาร์ต

ศูนย์กลางความเจริญทางด้านศิลปวัฒนธรรมอยู่ที่ยุโรปยาวนานร่วม ๆ พันปี นับตั้งแต่ยุคกลางมา แต่พอมาถึงศตวรรษที่ 20 ฝั่งเอมริกาก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ และวัฒนธรรมของอเมริกาก็ส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลกอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด เป็นสื่อนำ ภาพยนตร์นี้ก่อให้เกิดดารา แฟชั่น การโฆษณา และเพลงประกอบ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนรุ่นใหม่ไปทั่วทั้งโลก

ป็อบอาร์ตถือกำเนิดขึ้น ป็อบอาร์ต เป็นแบบอย่างของศิลปะที่สะท้อนพลังสภาพแท้จริงของสังคมปัจจุบัน ตามความรู้สึกความเข้าใจของสามัญชนทั่วไป ในชั่วขณะหนึ่ง เวลาหนึ่ง เป็นศิลปะที่เกี่ยวกับความชุลมุนวุ่นวายของสังคม พลุ่งประดุจพลุ ชอบวันนี้ พรุ่งนี้ลืมอะไรทำนองนี้

กลุ่มศิลปินที่สร้างสรรค์งานชนิดนี้เชื่อว่า ศิลปะสร้างขึ้นจากสิ่งสัพเพเหระ ของชีวิตประจำวัน เป็นการแสดงความรู้สึกของประสบการณ์ที่พบเห็นของศิลปินในช่วงเวลานั้น ขณะนั้น ณ ที่แห่งนั้น

เรื่องราวที่ศิลปินนำเสนอมีแตกต่างกันไป เช่นบางคนเขียนเรื่องเกี่ยวกับ ดารายอดนิยม บ้างก็เขียนเรื่องเครื่องจักร บ้างก็เขียนภาพโฆษณา เรื่องง่าย ๆ ใกล้ ๆ ตัวจึงทำให้หลาย ๆ คนเห็นว่างานแนวนี้ไม่ควรค่าแก่คำว่าศิลปะ เพราะมันเป็นความนิยมแค่ชั่ววันชั่วคืน ตื่นเต้นฮือฮาพักหนึ่งก็จางหาย

อย่างไรก็ตามกลุ่มที่นิยมในแนวนี้ก็ยังคงยืนยันว่ามันคือศิลปะ เขาอ้างว่า สิ่งเหล่านี้เป็นศิลปะแน่นอน เพราะผลงานนั้นกระตุ้นให้เราตอบสนองทางความรู้สึกอย่างนั้น ที่จริงแล้ว สิ่งที่เรารู้ว่าเป็นศิลปะ คือ สิ่งที่ศิลปินสร้างสรรค์ พวกเขามีความเชื่อเกี่ยวกับสุนทรียภาพว่า สุนทรียภาพ คือความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับสภาพต่าง ๆ ที่ปรากฏในโลกของอุตสาหกรรม โลกชนบท และโลกเศรษฐกิจ ศิลปินพยายามตอบสนองโลกที่แวดล้อมภายนอกเหล่านี้โดยแสดงความรู้สึกด้วยภาพ ซึ่งใช้วิธีการของแอบแสตรกบ้าง เอ็กซเพรสชั่นนิสม์บ้าง คิวบิสม์บ้างตามความเหมาะสม





ศิลปะ อ๊อป อาร์ต

ศิลปะอ๊อปอาร์ต เป็นศิลปะที่มุ่งถึงสายตา การมองเห็น เรื่องตาเป็นเรื่องสำคัญของศิลปะแบบนี้ การรับรู้ทางตา เป็นปัญหาที่พยายามค้นคว้ากันอยู่เสมอ นักจิตวิทยาบางคนพยายามที่จะทดลองหาข้อเท็จจริงว่า ตาหรือสมองกันแน่ ที่เป็นสื่อกระตุ้นประสาทการรับรู้ต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยพยายามที่จะหาข้อมูลเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการเห็น การคิด ความรู้สึกและความจำ แต่ก็ไม่สามารถวิเคราะห์ออกจากกันได้ว่าอันไหนสำคัญกว่า

เมื่อยังหาข้อสรุปไม่ได้ ว่าตาหรือสมองสำคัญกว่ากัน ศิลปินอ๊อปอาร์ต จึงเลือกเชื่อตามความคิดของตนว่า ตามีความสำคัญกว่า เน้นการเห็นด้วยตา เป็นข้อสมมติฐานในการแสดงออกทางศิลปะ แนวคิดของงานอยู่บนความเชื่อที่ว่า จิตรกรรมประกอบด้วยเส้น และสี ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ เส้นและสีต้องมีการแสดงออกอย่างเสรี โดยไม่เลียนแบบธรรมชาติ เส้นและสีต้องมีความกลมกลืนกัน

จิตรกรรมปรากฏบนระนาบผิวหน้าของผ้าใบ ซึ่งเป็นบริเวณที่รวบรวมรูปแบบและความรู้สึกของจิตรกรรม ดังนั้นระนาบผิวหน้าจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ต้องไม่ลอกเลียนแบบธรรมชาติไม่ลอกเลียนวิชา เปอร์สเปคตีฟ (เป็นเรื่องของเส้นสายตาที่มองใกล้ ไกล สิ่งที่อยู่ใกล้ใหญ่ สิ่งที่อยู่ไกลเล็กเป็นต้น) แต่จะต้องรู้สึกตื้นลึกด้วยตัวมันเอง

ศิลปินที่พยายามแสดงความรู้สึกของตนอย่างเสรี จะยึดรูปทรงง่าย ๆ เป็นหลัก ยิ่งง่ายยิ่งเป็นสากล สียิ่งบริสุทธิ์ก็ยิ่งเป็นสากล สีที่บริสุทธิ์คือแม่สีเบื้องต้นที่ไม่ได้เกิดจากการผสมจากสีอื่น

อ๊อปอาร์ตได้รับอิทธิพลจากกลุ่มฟิวเจอริสม์ ซึ่งย้ำเน้นถึงความเคลื่อนไหว ความเร็ว และวิทยาศาสตร์แขนงฟิสิกส์เป็นอันมาก อ๊อปอาร์ดจะเน้นความเคลื่อนไหวของรูปแบบให้เป็นจิตรกรรม โดยวิธีการซ้ำๆกันของส่วนประกอบทางศิลปะ เพื่อให้ผู้ดูตระหนักในความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบศิลปะที่สะท้อนภาพสังคมปัจจุบัน

แบบอย่างของอ๊อปอาร์ดนอกจากจะเป็นจิตรกรรมแล้ว ในวงการอุตสาหกรรมแบบอย่างของออปอาร์ตก็มีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันอยู่มาก ในรูปแบบของลายผ้า การตกแต่ง เวที การจัดร้านต่างๆเป็นต้น

ศิลปะยังคงดำเนินต่อไปอย่างสอดคล้องต่อชีวิตประจำวัน การเปลี่ยนแปลง คือ นิรันดร์ การจะโหยหาให้อนุรักษ์แต่ของดั้งเดิมอย่างไม่ลืมหูลืมตานั่นเพราะขาดความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะ หากจะอนุรักษ์แบบนั้นก็ต้องอนุรักษ์วิถีชีวิตด้วย เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยน ศิลปะจะไม่เปลี่ยนได้อย่างไร มันผิดหลักธรรมชาติของมนุษย์ ปัญหาจึงอยู่ที่จะปรับเปลี่ยนศิลปะไปในทิศทางใด เพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ อย่างดีที่สุดต่างหาก



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น