วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555
ยุคของศิลปะ
อารยธรรมของมนุษย์ดำเนินมาอย่างยาวนาน มีวิวัฒนาการมาเรื่อย เราอาจจะศึกษาประวัติศาสตร์ได้จากบันทึกทางตัวอักษร แต่ไม่เสมอไป บางยุคบางสมัย ไม่พบหลักฐานในการใช้ตัวหนังสือ บางยุคก็เป็นอักษรโบราณที่คนปัจจุบันอ่านไม่ออกแล้ว ดังนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์จึงทำได้อีกทางหนึ่ง นั่นคือ ศึกษาจากหลักฐานทางด้านศิลปกรรม เพราะงานศิลปะ เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์โดยแท้จริง มนุษย์นำศิลปะมาใช้เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิต ความเชื่อทางศาสนา และการตกแต่งประดับประดาเพื่อความสวยงาม หรือแม้กระทั่งความรื่นรมย์
ยุค ก่อนประวัติศาสตร์
ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก็คือ ยุคที่มนุษย์ยังไม่มีตัวอักษรใช้กัน ได้แก่ ยุคหิน และยุคโลหะ ศิลปกรรมในยุคนี้สร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลใจทางด้านความเชื่อ และสัญชาตญาณ ในระยะแรก ๆ จะเป็นการเลียนแบบธรรมชาติ แล้วต่อมาก็ค่อย ๆ เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ของตนลงไป
งานทางด้านจิตรกรรมจะปรากฏอยู่ตามฝาผนังถ้ำ มีทั้งรูปมือ รูปคน รูปลายเรขาคณิต แต่ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นรูปสัตว์
ด้านประติมากรรม ส่วนใหญ่จะทำขึ้นมาเพื่อประโยชน์ใช้สอย เช่น พวกภาชนะใส่ของ ใบมีดที่ทำจากเปลือกหอยน้ำจืด ขวานกำปั้นซึ่งทำจากหิน อาวุธต่าง ๆ ที่ทำจากกระดูกสัตว์ อาทิ ลูกศร ปลายหอก ฉมวก แต่ก็พบรูปแกะสลักหินอยู่เหมือนกัน เชื่อว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความสมบูรณ์ หรือเพื่อขอบุตร
รูปสลักที่มีชื่อเสียงคือ วีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟ (ออสเตรีย)
วีนัสแห่งเวสโทนิค (เชก)
และวีนัสแห่งลอเซล (ฝรั่งเศส)
สถาปัตยกรรมคงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุด น่าฉงนฉงายเป็นที่สุด เพราะไม่มีใครทราบคำตอบที่แน่ชัดว่าสร้างขึ้นเพื่ออะไร มีแต่การคาดเดาไปต่างๆนานา สถาปัตยกรรมได้แก่
พวกหินตั้ง (Menhir) เป็นหินก้อนเดียวโดด ๆ วางตั้งอยู่
โต๊ะหิน (Stone hence) ประกอบด้วยหินสองแท่งหรือมากกว่าวางตั้งอยู่ และมีหินก้อนวางพาดอยู่ข้างบน โครงสร้างลักษณะนี้เรียกว่าโครงสร้างแบบวางพาด ซึ่งจะพบได้ในสถาปัตยกรรมในยุคต่อ ๆ มา
หินตั้งล้อม (Stone circle) ประกอบด้วย โต๊ะหินต่อเนื่องกันล้อมเป็นวงกลม
Alignments คือ หินตั้งเรียงกันเป็นแถวยาว
ยุค อียิปต์
ในยุคอิยิปต์มีตัวอักษรใช้กันแล้ว เรียกว่า อักษรภาพ ดังนั้นจึงจัดอยู่ในยุคประวัติศาสตร์ ศิลปกรรมของชาวอิยิปต์สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สร้างขึ้นตามแรงบันดาลใจทางศาสนาและความเชื่อ ศิลปกรรมมีลักษณะมั่นคง ถาวร ดังจะให้คงอยู่จวบจนถึงวันสิ้นโลกอะไรอย่างนั้น ยุคนี้มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นมาก คงไม่มีใครไม่รู้จักปิรามิด ปิรามิดที่พบมักจะสร้างเพื่อเก็บสมบัติและพระศพของฟาโรห์ ซึ่งก็คือผู้ปกครองประเทศนั่นเอง (มีนักวิชาการบางท่านบอกว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของปิรามิดไม่ได้มีไว้เพื่อฝังศพ) แต่ก่อนที่จะมีปิรามิดนั้นยังมี มาสตาบา มาก่อน และนี่แหละคือที่ฝังศพที่เก่าแก่ที่สุด ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นปิรามิด นอกจากนี้ยังมีโบสถ์ วิหารสร้างตามภูเขา และใช้โครงสร้างแบบวางพาด
ด้านประติมากรรมก็เป็นรูปแกะสลักรูปบุคคลที่เคารพนับถือ ทำไว้เพื่อเคารพบูชา จะใช้วัสดุที่ทนทานมีคุณค่า ส่วนงานทางด้านจิตรกรรมก็เป็นงานตกแต่งสุสานฝังศพ ทั้งบนหีบศพและตามผนังต่างๆ แสดงเรื่องราวพิธีกรรมทางศาสนา จนถึงชีวิตความเป็นอยู่ ลักษณะการจัดวางภาพคนจะแสดงให้เห็นทั้งด้านหน้าและด้านข้างในเวลาเดียวกัน คือ เห็นลำตัวด้านหน้า แต่ใบหน้า แขน ขา แสดงให้เห็นด้านข้าง อันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของศิลปะอิยิปต์ ชนชาวอิยิปต์มีความสามารถในการประดิษฐ์ตกแต่งเครื่องประดับ รู้จักทำน้ำยาเคลือบ รู้จักลงยา และนำลวดลายตามธรรมชาติมาดัดแปลง ประกอบอย่างเหมาะสม
ยุค เมโสโปเตเมีย
อาณาจักรนี้ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส ประกอบด้วยชนชาติ ซูเมอเรียน บาบิโลเนีย แอสสิเรีย และเปอร์เซีย ตามลำดับ เริ่มจากซูเมอเรียนและบาบิโลเนีย ชนกลุ่มนี้เป็นพวกที่วางรากฐานความเจริญด้านวัฒนธรรมไว้มากมาย พวกเขารู้จักสร้างกำแพงเมือง (อาจเป็นเพราะมีการสู้รบกันบ่อย) และทำนบกั้นน้ำ มีความสามารถในการเพาะปลูก เมโสโปเตเมียแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนบนคือแอสสิเรีย ส่วนล่างคือบาบิโลน ซึ่งอุดมสมบูรณ์กว่าตอนบน เนื่องจากในดินแดนแห่งนี้ประกอบด้วยผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ ต่างความคิด ต่างความเชื่อ จึงมีการสู้รบแย่งชิงอำนาจอยู่บ่อยครั้ง
ศิลปกรรมมีความสอดคล้องกับความเชื่อ พวกเขาเชื่อในอำนาจของพระเจ้าตามธรรมชาติ เคารพดวงดาว แม่น้ำ ปรากฏการณ์อื่น ๆ ที่หาคำตอบไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็เชื่อในสิ่งที่มีเหตุผลด้วยเหมือนกัน
งานด้านสถาปัตยกรรมมักสร้างให้สูงใหญ่เหมือนภูเขา นิยมประดับแก้วหินในสถาปัตยกรรมนั้น ๆ ด้วย สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นได้แก่ ซิกกูรัตแห่งเมืองอูร์ ประติมากรรมมีทั้งแบบนูนต่ำ นูนสูง และลอยตัว ส่วนมากเกี่ยวกับเรื่องราวกิจกรรมของพระมหากษัตริย์ มีการประดับเปลือกหอย หินสี มีความสามารถในการแสดงออกและเลือกวัสดุได้อย่างเหมาะสม งานจิตรกรรม เขียนง่าย ๆ ไม่เน้นรายละเอียดไม่มีแสงเงา มีความคล้ายคลึงกับอิยิปต์อยู่เหมือนกันตรงการจัดวาง คือ ภาพหน้าคน แขน ขาจะหันข้างแต่ลำตัวหันด้านหน้า นอกจากนี้พวกเขายังมีอักษรใช้เช่นกัน อักษรของพวกเขาเรียกว่าอักษรลิ่ม
ยุค กรีก
ศิลปกรรมของกรีกจะยึดมั่นในเหตุผลและความสมบูรณ์ของมนุษย์ ต่างจากพวกอิยิปต์และเมโสโปเตเมียที่ใช้ศิลปกรรมไปในทางบูชา เซ่นสรวง เกี่ยวกับศาสนา พวกกรีกถือว่า ร่างกายของมนุษย์เป็นความงามตามธรรมชาติดุจเช่นเดียวกับภูเขา ต้นไม้ สายน้ำ ดังนั้น ศิลปกรรมของชาวกรีกจึงแสดงถึงความสมบูรณ์ของร่างกายมนุษย์อย่างชัดเจน งานประติมากรรมภาพคนจะแสดงให้เห็นถึงกล้ามเนื้อและอวัยวะต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ที่สุด ปราศจากเครื่องนุ่มห่ม
ด้านสถาปัตยกรรม แรก ๆ นิยมเอาไม้มาเป็นวัสดุก่อสร้าง สถาปัตยกรรมของชาวกรีกจะมีไว้รับใช้สังคมเป็นส่วนมาก เช่น สถานแสดงกีฬา โรงละคร วิหาร ลักษณะการตกแต่งภายนอกได้แก่หัวเสานั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ ดังนี้
1. ดอริค มีลักษณะใหญ่ ทรงป้อม
2. ไอโอนิค ลักษณะชะลูด ทรงสูง
3. โครินเธียน มีลักษณะคล้ายทรงของพืช
งานด้านจิตรกรรมพบได้บนผนังต่างๆ และบนภาชนะ มีลักษณะเด่นๆคือ
1. แสดงความรู้สึกตื้นลึกด้วยการเขียนซ้อนกัน
2. ใช้สีจำกัดและแบน
3. ใช้ลวดลายประกอบกิจกรรมรูปคน
4. เรื่องราวของภาพประกอบในไหเป็นเรื่อง อิเลียดและโอดิสซี แบ่งเป็นตอนๆ
5. นิยมใช้สีดำและสีแดงเขียนด้วยน้ำยาเคลือบ
6. ลักษณะง่าย ชัดเจน
ยุค อีทัสคัน และโรมัน
อิทรัสคัน เป็นชนชาติที่อยู่บนแหลมอิตาลี พวกเขามีความเป็นนักรบชั้นยอดในขณะเดียวกันก็เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมด้วย ลักษณะงานทางสถาปัตยกรรมนิยมวางผังเป็นรูปแบบสี่เหลี่ยมง่าย ๆ ใช้โครงสร้างแบบวางพาด (อีกเช่นเคย) มีการนำอิฐมาก่อสร้าง มีการสร้างท่อส่งน้ำ ท่อระบายน้ำ ภายหลังพัฒนาจนมีประตูโค้ง เพดานโค้ง มีการเปลี่ยนแปลงหัวเสามาเป็นแบบของตัวเอง เรียกว่า ทัสคัน
งานประติมากรรมมีการเน้นส่วนละเอียด เน้นรูปทรงตามวัสดุ ชำนาญการหล่อโลหะโดยเฉพาะโลหะสำริด ส่วนงานด้านจิตรกรรมมีลักษณะเป็นสีแบน เขียนตามผนังประดับที่ฝังศพ ได้รับอิทธิพลมาจากกรีก และอิยิปต์
เมื่ออิทรัสคันเสื่อมอำนาจลง พวกโรมันก็เรืองอำนาจและเข้าปกครองแหลมอิตาลีแทน โรมันอาจได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่ทางการทหาร แต่ทางด้านศิลปกรรมกลับอยู่ภายใต้อิทธิพลของกรีกและอิทรัสคัน ศิลปะของพวกโรมันคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยต่อสาธารณชนมากกว่าความงดงาม
สถาปัตยกรรมของพวกเขามีลักษณะโค้ง เป็นโดม รับกับคาน มีการผสมผสานหัวเสาแบบไอโอนิคกับโครินเธียนเข้าด้วยกัน เป็นหัวเสาแบบคอมโพสิท และยังคิดหัวเสาแบบทัสแคน (ซึ่งคล้ายๆกับหัวเสาดอริค) ขึ้นมาอีกด้วย
พวกเขามีโฟรุม คือจัตุรัสที่พบปะและสังสรรค์ของประชาชนทางกฎหมายและธุรกิจต่าง ๆ
มีบาสิลิกา เป็นอาคารขนาดใหญ่ ใช้เป็นศาลยุติธรรมหรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ
มีโคลอสเซียม เป็นสนามกีฬา มีโรงละคร และสถานที่อาบน้ำ มีการสร้างท่อลำเลียงน้ำ มีประตูชัย สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นอีกอย่างก็คือ วิหารแพนธีออน สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของเทพเจ้าโรมัน
ประติมากรรมของโรมันมีความสำคัญในฐานะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ความรู้สึกบนใบหน้าคนจะแสดงออกได้ดีกว่ากรีก แต่โดยภาพรวมทั้งหมดงานของกรีกจะดูสมบูรณ์แบบกว่า งานทางด้านจิตรกรรมใช้ตกแต่งสถาปัตยกรรม มีทั้งภาพระบายสีและงานประดับโมเสค มีการสร้างภาพลวงให้มีระยะใกล้ไกล มีแสงและเงา
ยุค กลาง
ยุคกลางนี้บางครั้งก็จะเรียกว่า ยุคมืด นั่นเพราะว่ายังไม่ได้มีการค้นพบลักษณะเด่นๆมากนัก สถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงคือ วิหารเซนต์มาร์ติน ในฝรั่งเศส ซึ่งแสดงว่ายังใช้โครงสร้างแบบวางพาดอยู่ สถาปัตยกรรมที่เป็นส่วนบุคคลมักจะสร้างให้ใหญ่โต มีกำแพงสูงและหนา มั่นคงแข็งแรง พยายามสร้างความสมบูรณ์ของชีวิตมากที่สุด
ด้านประติมากรรมสร้างเพื่อตกแต่งผนัง ไม่นิยมสัดส่วนตามธรรมชาติ ด้านจิตรกรรมยังคงเป็นภาพผนัง มีภาพคนเหมือนบ้าง และมีการจัดทำเอกสารประกอบภาพเขียนระบายสีอย่างงดงาม ยุคกลางนี้ บ้างก็แบ่งสมัยตามกษัตริย์ที่มีอำนาจปกครอง เป็นสมัยคาโรลิงเจียน สมัยออตโตเนียน และสมัยโรมาเนสค์
ยุค โกธิค
นักวิจารณ์ในยุคฟื้นฟูเห็นว่ายุคนี้เป็นความต่ำต้อย ขาดรสนิยมทางศิลปะ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับกรีก และโรมัน แต่พวกศิลปินเห็นว่านี่เป็นศิลปะแบบใหม่ที่มีแบบเฉพาะของตัวเอง เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม
สถาปัตยกรรมนิยมสร้างให้มีรูปทรงสูงชะลูด ใช้โค้งหลังคาแบบต่าง ๆ เพื่อเฉลี่ยน้ำหนักของหลังคาลงบนเสา และผนัง ประติมากรรมส่วนใหญ่ สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการประกอบสถาปัตยกรรมอีกที เป็นเรื่องราวทางศาสนาและมีลักษณะสูงชะลูด เป็นแบบลอยตัวยื่นออกมาจากผนังหรือกำแพง
งานจิตรกรรมส่วนใหญ่เป็นการเขียนภาพประกอบหนังสือ และที่โดดเด่นเห็นจะเป็นการเขียนภาพบนกระจกสี เรียกว่า Stained glass ประดับบริเวณเหนือประตู หน้าต่าง เพื่อให้แสงส่องผ่าน งานจิตรกรรมในยุคนี้ใช้สีสดใส สว่าง มีลายเส้นวิจิตร และมีองค์ประกอบง่าย ๆ แต่ดึงดูดใจมาก
สมัย ฟื้นฟู
ในยุคนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่อิตาลี เป็นการนำศิลปะของกรีก และโรมันมาปัดฝุ่นใหม่ อีกทั้งยังมีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวิชาการด้านอื่นๆทุกแขนง ด้วยความเชื่อที่ว่า มนุษย์คือศูนย์กลางของจักรวาล เป็นผู้ควบคุมธรรมชาติ ยึดมั่นในเหตุผล และถือว่าคุณค่าของมนุษย์อยู่ที่ความรู้ ความคิด ความสามารถของตนเอง
สถาปัตรยกรรมนำเอาหลังคาโค้ง เสาแบบต่าง ๆ ของกรีกมาปรับปรุง ทำให้มีลักษณะเฉพาะขึ้น ประติมากรรมก็เช่นเดียวกัน และมักสร้างขึ้นประกอบสถาปัตยกรรม
จิตรกรรมสมัยนี้เน้นเรื่องราวของชีวิตและสิ่งแวดล้อม ภาพคนจะมีความโดดเด่นเป็นประธานของภาพ ด้านหลังอาจจะเป็นภาพภายในตัวอาคาร หรือไม่ก็ภูมิประเทศ มีการใช้แสงเงาที่เหมือนจริง เก็บรายละเอียดของพื้นผิวต่าง ๆ ประณีตงดงาม
ศิลปินที่มีชื่อเสียงได้แก่ Davinci , Michelangelo , Raphael เรียกว่า เป็นสามยอดอัจฉริยบุคคลที่เกิดมาร่วมเมืองร่วมสมัยเดียวกัน
สมัย บารอค
ศิลปะแบบบารอคจะเน้นหนักไปทางธรรมชาติ แสดงความอ่อนไหว มีลวดลายประดิษฐ์มาก ซับซ้อน
คำว่า บาโรค มาจากภาษาโปรตุเกส ที่แปลว่า รูปร่างของไข่มุกที่มีสัณฐานเบี้ยว เป็นคำที่ใช้เรียกลักษณะงานสถาปัตยกรรม และจิตรกรรมที่มีการตกแต่งประดับประดา และให้ความรู้สึกอ่อนไหว
หลังจากบารอคก็มีศิลปะแบบ รอคโคโค ตามมา มีลักษณะคล้ายคลึงกับบาโรคเพียงแต่เน้นที่ความรู้สึกมากยิ่งขึ้น จิตรกรที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ได้แก่ รูเบนส์ , เรมบรานด์ , เวลาสเควซ เป็นต้น
ศิลปะในแบบบาโรค และรอคโคโคนั้นใกล้เคียงกันมาก มีบางคนได้เปรียบเปรยว่า ถ้าบาโรคเหมือนกับบุรุษเพศที่มีความองอาจ สง่างาม รอคโคโคก็เหมือนกับสตรีเพศที่มีความงดงามที่นุ่มนวลและอ่อนช้อย คำกล่าวนี้คงจะพอทำให้เข้าใจถึงศิลปะทั้งสองแบบได้ดียิ่งขึ้น
สมัย คลาสสิก
ในสมัยคลาสสิก เป็นยุคที่ยุโรปมีความตื่นตัวในเรื่องประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยมีสงครามเป็นแรงผลักดัน ในทางปรัชญาถือว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งเหตุผล (แม้ว่าหลาย ๆ คนจะเห็นว่าสงครามเป็นเรื่องไร้เหตุผลก็ตาม)
ดังนั้นงานศิลปะในยุคนี้จึงเป็นงานที่เน้นทางด้านเหตุผลด้วยเช่นกัน
Jacques Louis David จิตรกรผู้ที่ถือว่าเป็นผู้นำในศิลปะคลาสสิกนี้ กล่าวไว้ว่า ศิลปะคือดวงประทีปของเหตุผล ลักษณะงานต้องมีความถูกต้องตามหลักกายวิภาค มีความคิดสร้างสรรค์ตามเรื่องราวที่มีเหตุผล ให้ความสำคัญกับการจัดภาพ
สมัยโรแมนติก
แนวความคิดของศิลปะโรแมนติกนั้นต่างจากพวกคลาสสิกกันคนละขั้ว เพราะโรแมนติกยึดมั่นในเรื่องของจิตใจ ถือว่าจิตเป็นตัวกำเนิดของตัณหา อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งเป็นความจริงของมนุษย์มากกว่าการยึดมั่นในเหตุผลตามแนวคิดของคลาสสิก พวกศิลปินเชื่อว่า ศิลปะสร้างสรรค์ตัวของมันเองได้ และต้องมีคุณค่าทางอารมณ์มากกว่าเหตุผล
ศิลปะต้องสร้างอารมณ์ร่วมระหว่างผู้เสพและผู้สร้าง มุ่งสร้างศิลปะเพื่อให้กลมกลืนกับชีวิต มุ่งที่ความ"กลายเป็น"ตัดกับความ"เป็นอยู่"
งานทางด้านจิตรกรรมจะแสดงความตัดกันของน้ำหนักแสงและเงา ใช้สีที่ตัดกัน จิตรกรที่สำคัญได้แก่ Theodore Gericault , Eugene Deracroix ในงานจิตรกรรมนี้เป็นช่วงเวลาระหว่างค.ศ.1820-1850
สมัย เรียลลิสม์
ศิลปะมักเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลมกลืนกับสภาพชีวิตในแต่ละยุคสมัย
ศิลปะคลาสสิก และโรแมนติก ยังคงยึดแนวของกรีกและโรมันอยู่ไม่น้อย
ศิลปินรุ่นหลังเห็นว่า ศิลปะทั้งสองไม่ได้แสดงความกลมกลืนของชีวิต ยังคงลักษณะความเป็นอุดมคติอยู่ หาใช่ความจริงไม่
ดังนั้นการสร้างงานในยุคต่อมา ซึ่งเราเรียกกันว่า เรียลลิสม์ นั้น จึงสร้างงานตามสภาพความเป็นจริงศิลปินเชื่อว่าความงามอยู่ในทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะในที่เลิศหรูเช่นพระราชวัง หรือที่เรียบง่ายตามชนบทก็ตาม อีกทั้งยังเชื่อกันว่าศิลปะนั้นสอนกันไม่ได้ เพราะศิลปะเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่แต่ละคนมีความสามารถต่างกัน ศิลปะ คือ การเลียนแบบตามตาเห็น ศิลปินควรบันทึกเหตุการณ์ที่เป็นความจริงในยุคสมัยของตนเอาไว้ ไม่ใช่สร้างงานแบบโบราณนิยม (ถือว่าเป็นการปฏิเสธแนวคลาสสิกและโรแมนติคอย่างเห็นได้ชัด)
ศิลปินอย่าง โกยา อยู่ในช่วงรอยต่อของโรแมนติก และเรียลลิสม์ งานของเขาแสดงออกทั้งความเป็นจริงและแสดงออกถึงความสะเทือนอารมณ์ (โรแมนติก) ไปพร้อม ๆ กัน โกยาให้ทัศนะคติไว้ว่า ในธรรมชาติไม่มีใครเห็นเส้น มีแต่รูปทรงที่สว่างและมืด ระนาบใกล้ ไกล กลวง และยื่นโปนออกมา ทัศนะเช่นนี้จะปรากฏได้ชัดในงานยุคหลังถัดจากนี้ไป
เนื่องด้วยในช่วงเวลานี้ยุโรปได้ตกอยู่ในสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจและสังคม ชนชั้นกรรมาชีพก็เพิ่มมากขึ้น ศิลปินจึงสะท้อนภาพความลำบากของชนชั้นเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม ศิลปินที่มีชื่อเสียงได้แก่ โดมิเยร์ , มิเลท์ , กูร์เบท์
สมัย อิมเพรสชั่นนิสม์
งานเรียลลิสม์ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ลามไปเหมือนไฟลามทุ่ง จนกลายเป็นแฟชั่นที่นิยมกันทั่วไปจนดูเฟ้อ ในขณะที่คนกำลังเริ่มเบื่อหน่ายพลันเกิดศิลปะแนวใหม่ขึ้นมา นั่นคือ ศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ เป็นศิลปะที่เขียนภาพทิวทัศน์ได้อย่างสมจริงสมจังที่สุด กล่าวคือ สามารถสะท้อนบรรยากาศ เวลา ความเคลื่อนไหวของผิวน้ำ อากาศ ออกมาได้เป็นอย่างดี แต่เทคนิคในการเขียนนั้นหยาบกระด้าง โชว์ฝีแปรงให้เห็นชัด ๆ โดยไม่มีการเกลี่ย ต่างจากการเขียนรูปในแบบเดิม ๆ อย่างสิ้นเชิง จนหลาย ๆ คนปรับตัวรับไม่ทัน
อิมเพรสชั่นนิสม์ได้เข้าถึงจุดสุดยอดของเรื่องแสง ก่อนหน้านั้น ศิลปินจะสร้างภาพให้มีระยะตื้นลึกโดยใช้เส้นเป็นสื่อนำสายตา แต่ศิลปินกลุ่มนี้เพิ่มเติมมิติของอากาศลงไป พวกเขานำหลักทฤษฎีสี แสงอาทิตย์มาช่วยให้สีมีความกระจ่างสดใสมากขึ้น พวกเขาจะไม่ใช้สีดำ เพราะถือว่าสีดำไม่มีในธรรมชาติ เน้นรูปทรงที่เกิดขึ้นด้วยแสงและเงา รวมทั้งแสงที่สะท้อน และเงาที่ตกทอดด้วย
ศิลปินจะถือธรรมชาติเป็นใหญ่ ขจัดความฝัน จินตนาการหรืออารมณ์ส่วนตัวออกไป ยึดหลักทฤษฎีสี เคารพสีแสงที่อยู่ต่อหน้า พยายามจับแสงสีในอากาศให้ได้สภาพของกาลเวลา มุ่งที่ความประทับใจในฉับพลัน
สมัย โพสท์ – อิมเพรสชั่นนิสม์
หลังจากอิมเพรสชั่นนิสม์ ก็ยังมีโพสท์-อิมเพรสชั่นนิสม์ตามมา ศิลปินกลุ่มนี้ ได้เกิดปฏิกิริยาต่องานอิมเพรสชั่นนิสม์ พวกเขาทำงานตามความคิด ความเชื่อมั่นของตนเอง ไม่มีความสัมพันธ์หรือจัดเป็นกลุ่ม (ออกจะทะเลาะกันด้วยซ้ำไป) งานแตกต่างกันไปคนละอย่าง
แต่ในความต่างนั้น มีความเหมือนอยู่ที่แนวความคิดในการค้นหา และเน้นความสำคัญของรูปทรงใหม่ ๆ สีทุกสีย่อมมีคุณค่าในตัวของมันเอง ภาพจะต้องมีความเป็นเอกภาพ และที่สำคัญก็คือ มีการแสดงออกของอารมณ์เฉพาะตน
นักวิจารณ์ศิลปะผู้หนึ่งชื่อว่า โรเจอร์ ฟราย ได้กล่าวไว้ว่า ศิลปินกลุ่มนี้ไม่ยอมรับความเชื่อในการเขียนภาพให้มีรายละเอียด หรือการเลียนแบบธรรมชาติ ศิลปินกลุ่มนี้พยายามสร้างรูปทรงใหม่ขึ้นมา โดยที่รูปทรงนั้นมีความสัมพันธ์ต่อชีวิตจริง มีการตัดทอนรูปทรงให้ง่ายขึ้น ภาพทุกภาพแทนที่จะบอกให้ผู้ดูทราบว่าเป็นภาพอะไร อยู่ที่ไหน กลับกระตุ้นผู้ดูให้รู้สึกอย่างไรแทน คล้ายกับมีความรู้สึกคล้อยตามเสียงดนตรีมากกว่าที่จะเข้าใจตามรูปถ่าย (ในสมัยนั้นมีการผลิตกล้องถ่ายรูปแล้ว จริง ๆผลิตมาตั้งแต่ช่วงโรแมนติคตอนปลายนั่นแหละ)
ศิลปินที่มีผลงานโดดเด่นได้แก่ พอล เซซานน์ (ผู้รับอิทธิพลแนวคิดมาจากโกยาแบบเต็มๆ) , วินเซนต์ ฟาน กอห์ก , พอล โกแกง , ตูลูส โลแตรค
สมัย นีโอ – อิมเพรสชั่นนิสม์
นีโออิมเพรสชั่นนิสม์ เป็นงานที่เกิดขึ้นจากแนวคิดทางทฤษฎีวิทยาศาสตร์ ซึ่งกล่าวถึงแสงว่าเป็นทั้งพลังงานและอนุภาค นีโออิมเพรสชั่นนิสม์ใช้แนวคิดที่ว่าแสงเป็นอนุภาค มาสร้างงานในลักษณะการแต้มสีเป็นจุดเล็ก ๆ ลงบนภาพ โดยใช้สีบริสุทธิ์ที่ไม่มีการผสม แต่พวกเขาจะให้สีผสมกันที่สายตาผู้ดู เช่นว่าถ้าต้องการสีเขียว เขาก็จะแต้มสีน้ำเงินกับสีเหลืองคละเคล้ากัน แล้วสีทั้งสองก็จะมาผสมกันเป็นสีเขียวที่สายตาเอง ผู้นำในแนวนี้ได้แก่ จอร์จ เซอราท์
ศิลปินที่ร่วมกลุ่มได้แก่ พอล ซียัค , แมกซีมิเลียน ลูซ , อองรี เอ็ดมองด์ กรอส พวกเขาเชื่อในทฤษฎีของล็อกเคน รูด ที่บอกว่า การผสมสีในดวงตาจะเกิดผลให้ความสว่างสดใสยิ่งกว่าการผสมสีบนจานสี เป็นที่น่าเสียดายที่ศิลปินกลุ่มนี้มีอายุเพียงเจ็ดปี เนื่องจากจอร์จ เซอราท์ผู้นำกลุ่มได้เสียชีวิตลงนั่นเอง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น